ประวัติภาควิชา

ภาควิชากีฏวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดทำการเรียนการสอนทางด้านแมลงในระดับอุดมศึกษา ภาควิชากีฏวิทยาถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ซึ่งในสมัยแรกภาควิชากีฏวิทยาและภาควิชาโรคพืชจะอยู่รวมกันเป็นแผนกวิชากีฏวิทยาและโรคพืช ซึ่งเป็น 1 ใน 6 แผนกวิชาของคณะเกษตรสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแผนกวิชากีฏวิทยาและโรคพืช จะเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 แต่ก็ยังไม่เคยมีหัวหน้าแผนกอย่างเป็นทางการ จนกระทั้งปี พ.ศ. 2498 อาจารย์ ดร. ก่าน ชลวิจารณ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองพืชพรรณ ได้มาทำหน้าที่บริหารโดยเป็นหัวหน้าแผนกวิชากีฏวิทยาและโรคพืชเป็นท่านแรก ในช่วงที่ อาจารย์ ดร. ก่าน ชลวิจารณ์ เป็นหัวหน้าแผนกอยู่นั้น (พ.ศ. 2498-2504) งานทางด้านกีฏวิทยายังไม่ก้าวหน้าไปเท่าใดนักทั้งนี้เพราะยังขาดทรัพยากรบุคคลที่จะมาปฏิบัติงานสอนและงานวิจัยนั้นเอง บุคลากรทางด้านกีฏวิทยาในสมัยนั้นมีอยู่เพียง 2 ท่านด้วยกัน คือ อาจารย์ อารียัน มันยีกุล ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษ รับหน้าที่สอนวิชากีฏวิทยาเบื้องต้นภาคบรรยาย ส่วนภาคปฏิบัติการนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของอาจารย์เข้มแข็ง สีตธนี ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำแผนกฯ เพียงท่านเดียวในสมัยนั้น


ในปีพ.ศ. 2501 ดร. สุธรรม อารีกุล ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกทางด้านกีฏวิทยาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กลับมาปฏิบัติราชการที่แผนกฯ ท่านผู้นี้ได้เป็นแรงสำคัญที่ทำให้งานด้านกีฏวิทยาขยายตัวขึ้นอย่างมาก นอกจากท่านจะรับผิดชอบงานสอนหลายๆ วิชาในแต่ละภาคการศึกษาแล้ว ท่านยังได้สร้างกำลังคนให้กับแผนกฯ อีกเป็นจำนวนมาก จึงทำให้แผนกกีฏวิทยามีบุคลากรเพิ่มขึ้นอีกหลายท่าน ได้แก่ อาจารย์สมพร พัฒนกำจร อาจารย์สว่าง เจริญยิ่ง อาจารย์ขวัญชัย สมบัติศิริ อาจารย์ณรรฐพล วัลลีย์ลักษณ์ อาจารย์วาลุลี นพรัตน์ และอาจารย์บรรพต ณ ป้อมเพชร เป็นต้น


นอกจากอาจารย์ประจำของแผนกฯ จะมีจำนวนมากขึ้นดังกล่าวแล้ว แผนกฯ ยังได้รับความร่วมมือจากข้าราชการกรมกสิกรรมในสมัยนั้น มาเป็นอาจารย์พิเศษและอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ของนิสิต อีกหลายท่าน เช่น อาจารย์ทนงจิตร วงษ์ศิริ อาจารย์มนตรี รุมาคม อาจารย์โกวิท โกวิทวที อาจารย์อภิรัตน์ อรุณินท์ อาจารย์ประยูร ดีมา อาจารย์อนุวรรต วัฒนพงษ์ศิริ อาจารย์โสธร ประเสริฐผล และ อาจารย์ชาญชัย บุญยงค์ เป็นต้น


ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยการนำของ ดร.สุธรรม อารีกุล ซึ่งได้นำวิทยาการแผนใหม่ทางกีฏวิทยาเข้ามาใช้ ทำให้แผนกกีฏวิทยาได้เปิดสอนวิชาการทางด้านแมลงเพิ่มขึ้นอีกหลายวิชา เช่น แมลงศัตรูสำคัญทางเศรษฐกิจ กีฏวิทยาประยุกต์ สัณฐานวิทยาของแมลง วนกีฏวิทยา แมลงในน้ำ การกำจัดแมลงด้วยชีวินทรีย์ หลักอนุกรมวิธานของแมลง สารที่เป็นพิษต่อแมลง นิเวศวิทยาของแมลง แมลงศัตรูป่าไม้ และหลักวิจัยทางกีฏวิทยา เป็นต้น นอกจากงานสอนซึ่งเป็นภาระประจำแล้ว อาจารย์หลายท่านยังได้รับเงินทุนสนับสนุนทั้งจากในและต่างประเทศ เพื่อที่จะดำเนินงานวิจัยต่าง ๆ ทางด้านกีฏวิทยาหลายโครงการด้วยกัน






อาจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุล ได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกฯ คนที่ 3 ในปี 2509 สืบต่อจากศาสตราจารย์ ดร จรัด สุนทรสิงห์ ในช่วงนี้อาจารย์ได้ติดต่อขอทุนจากต่างประเทศ เช่น มูลนิธิร้อคกี้เฟลเลอร์และโครงการเงินกู้ธนาคารโลก ท่านเริ่มวางรากฐานให้กับงานทางด้านกีฏวิทยาโดยการสนับสนุนอาจารย์ในแผนกฯ ให้ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศตามสายงานที่อาจารย์ได้วางแนวทางเอาไว้ นอกจากท่านจะเร่งปรับปรุงคุณวุฒิของอาจารย์ในแผนกฯ แล้ว ยังได้ปรับปรุงทางด้านวัตถุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการก่อสร้างอาคารที่ทำการของแผนกกีฏวิทยาและโรคพืชขึ้น (ปัจจุบันเป็นที่ทำการของ กองวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) เนื่องจากในสมัยแรกเริ่มนั้น แผนกฯ ยังไม่มีที่ทำการเป็นของตนเอง ต้องอาศัยพื้นที่ชั้นล่างของตึกธรรมศักดิ์มนตรีของกระทรวงเกษตรฯ และเรือนไม้ข้าง อาคารรังสีวิทยาเป็นที่ทำการ นอกจากนั้นยังได้มีการสร้างโรงเลี้ยงแมลง เรือนกระจกกันแมลง ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัยอีกเป็นจำนวนมาก ทางด้านการเรียนการสอนนั้นก็ได้มีการเปิดวิชาใหม่ๆ ขึ้นอีกหลายวิชา และได้ขยายงานวิจัยออกไปอีกหลายโครงการ มีการจัดพิมพ์ตำราสำหรับใช้สอน และเอกสารทางวิชาการขึ้นหลายเล่ม เพื่อเผยแพร่ออกไปสู่สายตาประชาชนอีกด้วย


แผนกวิชากีฏวิทยาและโรคพืชได้แยกเป็นอิสระจากกันเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2518 กลายเป็นภาควิชากีฏวิทยา และภาควิชาโรคพืช และผู้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชากีฏวิทยาท่านแรกก็ คือ ดร.บรรพต ณ ป้อมเพชร เมื่อภาควิชากีฏวิทยาได้แยกตัวเป็นอิสระแล้วนั้น ภาระงานสอนและวิจัยก็มิได้ลดน้อยถอยลงแต่ประการใด เพราะภาควิชาฯ ได้รับความนิยมจากนิสิตเข้าเรียนเป็นอย่างสูงและสม่ำเสมอตลอดมา นอกจากนี้ยังได้ผลิตผลงานออกมาช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ภาควิชากีฏวิทยาเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ


ภาควิชากีฏวิทยาเริ่มรับนิสิตปริญญาโทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา ในปีแรกมีผู้สมัครเข้าเรียนเพียงคนเดียว คือ นายพายัพ กำเนิดรัตน์ หลังจากนั้นจำนวนผู้เรียนปริญญาโทก็ได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ต่อมาเมื่อภาควิชาฯ มีบุคลากรพร้อมมากขึ้น ตลอดจนมีอุปกรณ์การเรียนการสอนและงานวิจัยมากเพียงพอจนเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศแล้ว ภาควิชาฯ ก็ได้เปิดทำการสอนในระดับปริญญาเอกในปี พ.ศ. 2521 โดยมีนิสิตรุ่นแรก 3 คนด้วยกัน คือ นายวิวัฒน์ เสือสะอาด นายสมพงษ์ พงษ์ประเสริฐ และนายสนิท ทองสง่า


ในปี พ.ศ. 2520 ภาควิชากีฏวิทยาก็ต้องย้ายที่ทำการจากตึกกีฏวิทยาและโรคพืชมาอยู่ที่ชั้น 2 ของตึกจรัด สุนทรสิงห์ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของถนนหลวงสุวรรณ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่าง มหาวิทยาลัยกับกระทรวงเกษตรฯ ที่จะให้พื้นที่ด้านตะวันออกของถนนหลวงสุวรรณเป็นของกระทรวงเกษตรฯ ทำให้ภาควิชากีฏวิทยาต้องยกอาคารเดิมให้เป็นที่ทำการของกองวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ไป แต่ก็ได้สร้างอาคารอีก 2 หลังทางด้านถนนวิภาวดีรังสิต เป็นที่ทำการทางด้านสารพิษของแมลง และศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ โดยอาศัยเงินกู้จากธนาคารโลก และในเวลาเดียวกันภายใต้เงิน กู้ธนาคารโลกนี้ ภาควิชากีฏวิทยายังได้กลุ่มอาคารวิจัยกีฏวิทยาอุตสาหกรรมที่วิทยาเขตกำแพงแสนอีกด้วย


เมื่อมหาวิทยาลัยมีมติให้ย้ายนิสิตคณะเกษตรบางส่วนไปอยู่ที่วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ในปี พ.ศ. 2525 นั้น อาจารย์และข้าราชการบางส่วนได้ไปประจำอยู่ที่วิทยาเขตดังกล่าวเพื่อควบคุม ดูแลด้านการเรียนการสอนให้เป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัย อาคารที่ทำการของภาควิชากีฏวิทยา วิทยาเขตกำแพงแสนจึงมีหลายแห่งด้วยกัน เช่น ตึกบริหารคณะเกษตร ซึ่งใช้เป็นที่ทำงานของอาจารย์และ ห้องเรียน กลุ่มอาคารวิจัยทางด้านกีฏอุตสาหกรรม ซึ่งรวมทั้งศูนย์วิจัยกีฏวิทยาอุตสาหกรรม และอาคารปฏิบัติการกีฏวิทยา เป็นต้น





ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา ภาควิชากีฏวิทยาวิทยาเขตบางเขนและกำแพงแสน ได้แยกออกจากกันตามนโยบายของมหาวิทยาลัย โดยภาควิชากีฏวิทยาที่วิทยาเขตบางเขน อยู่ภายใต้คณะเกษตร มีอาจารย์ประจำภาควิชาฯ จำนวน 13 ท่าน ส่วนภาควิชากีฏวิทยาที่วิทยาเขตกำแพงแสนนั้น อยู่ภายใต้คณะเกษตร กำแพงแสน และมีอาจารย์ประจำภาควิชา จำนวน 9 ท่าน เช่นกัน แต่ละวิทยาเขต ยังคงใช้หลักสูตรปริญญาโท และเอกเป็นร่วมกัน ส่วนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาตรีเดิมนั้น เปิดสอนที่วิทยาเขตกำแพงแสนเพียงแห่งเดียว สำหรับภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร วิทยาเขตบางเขน ทำหน้าที่รับผิดชอบการเรียนการสอนบางส่วนของหลักสูตรปริญญาตรี 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (การจัดการศัตรูพืช), หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์เกษตร) และ double degree ธุรกิจการเกษตร นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายที่จะจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (กีฏวิทยา) เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านกีฏวิทยาโดยตรง สำหรับสนับสนุนด้านกีฏวิทยาการเกษตรและกีฏวิทยาทางการแพทย์ และสัตวแพทย์ของประเทศ


สำหรับหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่ทางภาควิชากีฏวิทยารับผิดชอบ ทั้งด้านบริการจัดการและการเรียนการสอนเต็มรูปแบบมี 4 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (กีฏวิทยา), หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (กีฏวิทยา) นานาชาติ, หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขากีฏวิทยา, หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (โครงการกาญจนาภิเษก) นอกจากนั้นยังรับผิดชอบ การเรียนการสอนและ งานวิจัยสำหรับบัณฑิต สาขากีฏวิทยา ในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรเขตร้อน) และปริญญาดุษฎีบัณฑิต เกษตรเขตร้อนอีกด้วย